แม้สองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาหน้าหนังสือพิมพ์อเมริกันจะเต็มไปด้วยข่าวประท้วงการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน วิกฤตโควิด-19 เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง โดยหลายฝ่ายกังวลว่าโควิด-19 จะกลับมาระบาดเป็นระลอกที่สอง
สถานการณ์ในบราซิลย่ำแย่เป็นอันดับที่สอง โดยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเลยหนึ่งล้านคนแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขบราซิลระบุว่าในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากกว่า 5.4 หมื่นราย
สถานการณ์ในสองประเทศนี้เป็นอย่างไร แล้วพวกเขาจะรับมืออย่างไรต่อ
สหรัฐฯ
ย้อนไปเมื่อปลายเดือน มี.ค. สถานการณ์ในสหรัฐฯ ย่ำแย่ และมาเดือน พ.ค. มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลงจนรัฐส่วนใหญ่เริ่มคลายมาตรการณ์ล็อกดาวน์
อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่โดยรวมแทบจะไม่เคยต่ำกว่า 20,000 รายต่อวัน เพราะแม้ว่าบางรัฐจะเริ่มควบคุมได้ แต่รัฐอื่น ๆ ก็เริ่มมีการระบาดเพิ่มมากขึ้น
นี่เป็นเหตุผลที่ ดร.แอนโทนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ (NIAID) บอกกับนักข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า "คนเอาแต่พูดถึงการระบาดระลอกที่สอง [แต่]เรายังอยู่ระหว่างการระบาดระลอกแรกอยู่เลย"
ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ โดนหนักที่สุด โดยผู้เสียชีวิตในรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์ คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั้งประเทศ แต่ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวเริ่มควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว
ตรงกันข้ามกับพื้นที่ทางใต้และตะวันตกของประเทศที่เริ่มมีเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น
คำถามไม่ใช่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม "หรือไม่" แต่เป็น "เพราะอะไร" ต่างหาก
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่าเป็นเพราะสหรัฐฯ ตรวจเชื้อคนเยอะ และ "ในหลาย ๆ ทาง มันทำให้[ประเทศ]เราดูแย่"
จริงอยู่ที่สหรัฐฯ มีการตรวจเชื้อมากกว่าประเทศไหนในโลก โดยถึงตอนนี้ตรวจเชื้อไปกว่า 25 ล้านรายแล้ว แต่ก็มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงไม่ใช่เพราะมีการตรวจเชื้อเยอะอย่างเดียว
ขณะนี้ อัตราผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วประเทศสหรัฐฯ ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าควรอยู่เท่านี้ หรือต่ำกว่านี้เป็นเวลา 14 วัน ก่อนที่ทางการจะเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้
อย่างไรก็ดี ราว 1 ใน 3 ของรัฐในสหรัฐฯ มีอัตราการติดเชื้อสูงกว่านั้นแต่ก็ยังคลายมาตรการล็อกดาวน์บางส่วนแล้ว และในรัฐเหล่านี้ ก็ยังมีตัวเลขผู้ที่ต้องถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลสูงขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี เรื่องที่เป็นข่าวดีที่สุดสำหรับสหรัฐฯ คือจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันยังคงต่ำลงเรื่อย ๆ อย่างในรัฐนิวยอร์กที่มีผู้เสียชีวิตราว 1,000 รายต่อวันในช่วงเดือน พ.ค. สัปดาห์นี้อยู่แค่ 40 รายต่อวัน
กระนั้นก็ตาม ตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่ใช่มาตรวัดที่สะท้อนวิกฤตได้อย่างตรงไปตรงมาเสมอไป เพราะอีกหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยหนักที่อยู่ในโรงพยาบาลขณะนี้อาจจะเสียชีวิตก็ได้
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีผู้เสียชีวิตสูงขึ้น ดร.ฟอซี จากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ บอกว่า คงไม่มีการกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์อีก แต่จะเป็นการพยายามควบคุมการระบาดในแต่ละรัฐแยกย่อยไป
ขณะนี้ มีผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ จากโควิด-19 ราว 1.2 แสนราย แต่งานวิจัยชิ้นหนึ่งโดยผู้เชี่ยวชาญที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 แสนรายเมื่อสิ้นเดือน ต.ค. ซึ่งคือหนึ่งเดือนก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
บราซิล
ประเทศในลาตินอเมริกาแห่งนี้เป็นประเทศที่สองที่มีผู้ติดเชื้อเลยหนึ่งล้านคน ตามหลังสหรัฐฯ
กระทรวงสาธารณสุขบราซิลระบุว่าในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากกว่า 5.4 หมื่นราย นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,200 รายติดต่อกันเป็นวันที่ 4 แล้ว รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกือบ 4.9 หมื่นราย
ตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ บราซิลมีการตรวจเชื้อในหมู่ประชาชนน้อย ซึ่งทำให้เชื่อกันว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงนั้นสูงกว่านี้มาก
องค์การอนามัยโลกเตือนว่าการระบาดใหญ่กำลังเข้าสู่ระยะที่ "ใหม่และอันตราย" โดยมีผู้ติดเชื้อมากขึ้นในขณะที่ผู้คนเริ่มเบื่อหน่ายกับการล็อกดาวน์แล้วและรัฐบาลก็อยากจะเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจ
สถานการณ์ในชิลีและเปรูก็แย่ ส่วนเม็กซิโกกลายเป็นประเทศที่ 7 แล้วที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 หมื่นคน
ประธานาธิบดี ชาอีร์ โบลโซนาโร ของบราซิลโดนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการรับมือวิกฤตมาตลอด และก็มักไม่พอใจที่ผู้ว่าการรัฐและนายกเทศมนตรีเมืองต่าง ๆ ใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด โดยเขาอ้างว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบที่ใหญ่หลวงกว่าตัวไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เสียอีก
วิกฤตโควิด-19 กลายเป็นประเด็นที่มีความเป็นการเมืองมากในบราซิล ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าการไม่ยอมรับฟังคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงจากองค์การอนามัยโลก มีส่วนทำให้สถานการณ์ในบราซิลสาหัสถึงขั้นนี้
นายโบลโซนาโรบอกหลายครั้งหลายหนว่าวิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เขายังไปร่วมการชุมนุมที่จัดโดยผู้สนับสนุนเขาด้วย ซึ่งทำให้คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขไม่ให้คนรวมตัวกันหมดความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ เขายังกล่าวหาว่าผู้ว่าการรัฐต่าง ๆ ว่าใช้เรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในการเรียกคะแนนนิยมทางการเมือง โดยผู้ว่าการรัฐหลายคนที่ต่อต้านเขาประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด
เช่นเดียวกับ ปธน. ทรัมป์ เขาแนะนำให้ใช้ยาไฮดร็อกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ซึ่งเป็นยารักษาไข้มาลาเรีย ในการรักษาโควิด-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลกบอกว่าไม่ใช่ลดอัตราการเสียชีวิตแต่อย่างใด หลังจากรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของเขาลาออกสองคนติดต่อกันในช่วงเวลาอันสั้น เขาแต่งตั้งให้นายพลผู้ไม่มีประสบการณ์ด้านสาธารณสุขแต่อย่างใดมาเป็นรัฐมนตรีแทน
นอกจากนี้ เขายังเผชิญอีกวิกฤตการเมืองท่ามกลางวิกฤตด้านสาธารณสุขอีก โดยขณะนี้มีการพิจารณาคดีจากข้อกล่าวหาว่าเขาพยายามเข้าไปแทรกแซงตำรวจโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง นอกจากนี้ ศาลฎีกาก็ยังกำลังไต่สวนคดีอีกสองคดีที่ข้องเกี่ยวกับบุคคลซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเมืองของเขาด้วย
"สอง" - Google News
June 21, 2020 at 09:07AM
https://ift.tt/2YkDY0r
โควิด-19 : สหรัฐฯ และบราซิล 2 ชาติที่เผชิญวิกฤตหนักสุดในโลก พลาดเพราะอะไร - บีบีซีไทย
"สอง" - Google News
https://ift.tt/3cPqHBD
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3d22Xu4
Bagikan Berita Ini
0 Response to "โควิด-19 : สหรัฐฯ และบราซิล 2 ชาติที่เผชิญวิกฤตหนักสุดในโลก พลาดเพราะอะไร - บีบีซีไทย"
Post a Comment