คุณบรรยง วิทยวีรศักดิ์ ประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิกได้โพสต์เรื่องราวบนเพจเฟสบุ๊ค ว่า
ผมสร้างตนเองจากปมด้อยได้อย่างไร
ถ้าจะมีใครสักคนหนึ่ง ที่มีปมด้อยทางด้านการเรียนรู้แล้วละก้อ ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มนั้น
ผมเกิดและเติบโตที่หมู่บ้านชายแดน ระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย “บ้านปาดังเบซาร์”เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ที่นั่นไม่มีใครสนใจเรื่องการอ่าน การเขียนหรือการออกเสียงมากนักหรอก (มันจึงทำให้ผมออกเสียงร.เรือและล.ลิงไม่ได้จนกระทั่งทุกวันนี้) แต่สิ่งที่ผมเรียนรู้คือ ผมสามารถฟังภาษาไทย ภาษาจีนกลาง จีนแคะ แต้จิ๋ว กวางตุ้งและภาษามาลายูได้พอสมควร พูดได้บ้าง(ในสมัยนั้น) เรียนรู้วิธีอยู่รอดในป่า ยิงนกตกปลา และปีนต้นไม้
เด็กที่นั่น ในสมัยนั้นเริ่มเข้าโรงเรียนประชาบาลตอนอายุ 7 ขวบ ในชั้นประถมปีที่ 1 (ป.1) คนที่โชคดีหน่อย พ่อแม่ก็จะฝากให้เรียนตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ในชั้นป.เตรียม ผมเริ่มเรียน ที่โรงเรียนชุมชนบ้านปาดังเบซาร์ ตอนอายุ 6 ขวบในชั้น ป.เตรียม ขณะที่เด็กในเมืองหาดใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง เริ่มเข้าเรียนตั้งแต่อายุ 3 ขวบในชั้นอนุบาล 1 พออายุ 5 ขวบ ก็ได้เรียนชั้นป.1 ผมจึงเรียนช้ากว่าเด็กอื่นๆในเมือง ไม่ต้องพูดถึงภาษาอังกฤษที่เด็กหาดใหญ่เริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ขณะที่โรงเรียนประชาบาลในสมัยนั้นจะเริ่มเรียนภาษาอังกฤษตอนป.5 ผมจึงไม่มีพื้นฐานเรื่องภาษาอังกฤษเลยในช่วงวัยเด็ก
จุดเปลี่ยนของชีวิต
จุดที่ทำให้ผมพลิกชีวิตในการเรียนรู้คือ คุณพ่อคุณแม่ ท่านคงเห็นว่าถ้ายังเรียนอยู่ที่ปาดังเบซาร์ คงได้แต่วิชายิงนกตกปลา ท่านจึงตัดสินใจส่งผมมาอยู่กับคุณป้าที่เมืองหาดใหญ่ พ่อแม่ของผมถึงจะเป็นเพียงพ่อค้าแม่ค้าที่ชายแดน แต่ท่านมีวิสัยทัศน์ที่เป็นเลิศ ท่านไม่เพียงส่งผมไปเรียนที่หาดใหญ่ ท่านยังให้ผมเรียนโรงเรียนแสงทองวิทยา ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ดีที่สุดในภาคใต้ในสมัยนั้น โรงเรียนแสงทองเป็นโรงเรียนคาทอลิก เน้นเรื่องภาษาอังกฤษ ค่าเทอมจึงสูงมาก คือ 1,000 บาทต่อเทอม ขณะที่โรงเรียนราษฎร์อื่นๆค่าเทอมอยู่ที่ 300 บาท (ค่าก๋วยเตี๋ยวในสมัยนั้นอยู่ที่ชามละ 1 บาท) ผมจึงสำนึกในความเหนื่อยยากของพ่อแม่ตั้งแต่ยังเล็ก จะใช้เงินแต่ละบาท ก็ประหยัดแล้วประหยัดอีก
ผมเข้าโรงเรียนแสงทองตอนอายุ 10 ขวบ ความจริงผมต้องเรียนชั้นป.4 แต่คุณพ่ออธิการเห็นว่าผมมาจากโรงเรียนชายแดน กลัวจะเรียนไม่ทันเพื่อน ท่านจึงให้เรียนซ้ำชั้นในชั้นป.3 อีกหนึ่งปี ทั้งๆที่คะแนนในโรงเรียนเดิมผมสอบได้ที่ 1 ของห้อง เมื่อมาเรียนที่แสงทองในปีแรก ในห้องป.3ข. ผมจึงสอบได้ที่ 1 โดยไม่ยาก และปีถัดไปจึงได้เลื่อนไปเรียนในชั้น ป.4ก.
สิ่งที่ยากมากสำหรับผมในปีแรกคือ วิชาภาษาอังกฤษ ขณะที่เพื่อนๆอ่านเขียนเป็นประโยคได้แล้ว แต่ผมต้องมาหัดท่อง A-Z ผมต้องเรียนพิเศษตอนเย็นในปีแรกของการขึ้นมาอยู่ที่หาดใหญ่ และด้วยความรู้สึกว่าผมมีจุดอ่อนในเรื่องนี้ ทุกๆเที่ยงหลังจากทานอาหารแล้ว เพื่อนๆจะไปเล่นฟุตบอลกัน แต่ผมกลับมานั่งอ่านตำราภาษาอังกฤษทุกวัน และภายใน 3 ปี ตอนอยู่ชั้นป.6 ผมก็สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชาภาษาอังกฤษ แต่การพูดภาษาอังกฤษของผมก็ยังกระท่อนกระแท่นมาก เพราะผมอ่านแต่ทฤษฎี รู้หลักไวยากรณ์ทั้งหมด แต่ออกเสียงไม่ได้ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของผมมาโดยตลอด จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่เข้าสู่วัยทำงาน
หลักคิดที่ดี
โชคดีที่โรงเรียนแสงทองเป็นโรงเรียนที่ดีมาก มีรุ่นพี่เป็นแบบอย่างที่ดี สอบได้คะแนนสูงๆ เราจึงอยากเอาอย่างพี่ๆ เพื่อนๆก็เรียนเก่ง ทำให้เราอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี ที่มีการแข่งขัน โรงเรียนมีห้องสมุดขนาดใหญ่ ทำให้ผมรักการอ่านตั้งแต่นั้นมา หนังสือที่ผมชอบที่สุดก็คือ หนังสือคำคมและหนังสือที่รวมสิ่งต่างๆที่เป็นอันดับหนึ่งของโลก ไม่ว่าจะสถานที่ที่ใหญ่ที่สุด สวยที่สุด ดีที่สุด ทำให้ความรู้ของผมแตกฉานมากยิ่งขึ้น มองภาพโลกกว้างไกลยิ่งขึ้น
จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ผมเริ่มตั้งคำถามกับตนเองในตอนเรียนชั้นมัธยมศึกษาว่า ผมควรสนใจเรื่องอะไร ผมถามตัวเองว่าวิชาอะไรที่คนประสบความสำเร็จต้องรู้ ศาสตร์อะไรที่เป็นศิลปะชั้นสูงของโลก และผมควรจะศึกษาเรื่องเหล่านั้น ถึงแม้ผมจะไม่มีพื้นฐานเรื่องเหล่านั้นมาก่อนเลย โดยอาศัยการหาทรัพยากรเท่าที่จะหาได้ในสมัยนั้น ที่สำคัญต้องไม่ใช้เงินมาก เพราะเกรงใจคุณพ่อคุณแม่
ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องแรกที่ผมตัดสินใจว่า คนประสบความสำเร็จต้องรู้ และมันเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันทั่วโลก ผมพยายามเรียนรู้แต่ก็พบว่าผมมีทรัพยากรที่จำกัดมาก ทำได้เพียงการอ่านตำราเรียนของตนเอง เมื่อผมไปเรียนที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ที่เป็นอีกโรงเรียนที่ดีมาก ผมมักลงเรียนวิชาเลือกเป็นภาษาอังกฤษที่ยากขึ้น ทำให้ความรู้ทางด้านไวยากรณ์ของผมดีขึ้น อ่านเข้าใจมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาในด้านของการออกเสียง จนเมื่อมาทำงานด้านขายประกันชีวิต ผมแทบจะไม่ได้ใช้ความรู้ภาษาอังกฤษเลย
วันหนึ่งไปเห็นสโมสร Siam Toastmaster ที่เป็นสโมสรฝึกพูดต่อหน้าที่ชุมชนเป็นภาษาอังกฤษ ผมจึงคิดว่านี่แหละจะเป็นโอกาสที่ผมได้ฝึกภาษาอังกฤษอีกครั้ง จึงเข้าร่วมสโมสรนั้นอยู่ร่วม 10 ปี ทำให้ผมกล้าออกเสียงมากขึ้น เนื่องจากมีสมาชิกอาวุโสเก่งๆหลายคนที่มาสอนการออกเสียงที่ถูกต้อง จนกระทั่งมาเมื่อ 7-8 ปีนี้ ผมเริ่มใช้โทรศัพทสมาร์ทโฟนที่มีแอพพลิเคชั่นแปลคำศัพท์อังกฤษ ที่สามารถฟังการออกเสียงได้ด้วย ทำให้ภาษาอังกฤษของผมพัฒนาขึ้นมาก มีความมั่นใจในการพูดมากขึ้น และล่าสุด ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA) ทำให้ผมได้ใช้ภาษาอังกฤษอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง ถึงแม้ว่าการพูดภาษาอังกฤษของผมจะไม่คล่องปรื๋อ แต่ก็สื่อสารกับคนต่างชาติได้ นับเป็นการพิชิตปมด้อยที่ใช้เวลายาวนานที่สุด
การพูดต่อหน้าที่ชุมชน
ผมตระหนักดีมาตลอดว่าผมมีปัญหาเรื่องการพูดต่อหน้าที่ชุมชน อย่างที่บอกว่าผมมาจากต่างเมือง และค่อนข้างเก็บตัว เมื่อผมเข้ามหาวิทยาลัย ในวันที่ผมสมัครเป็นนายกองค์การนักศึกษาผมไม่สามารถขึ้นไปพูดหาเสียงได้ ทำได้เพียงแนะนำตนเองแล้วให้คนอื่นในทีมช่วยพูดให้ ผมจึงคิดว่าต้องไปหาสถานที่ฝึกพูดให้ได้ แต่หาดใหญ่ไม่มีสโมสรฝึกพูด เมื่อเรียนจบจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผมได้เข้ากรุงเทพ เรื่องแรกๆที่ผมคิดถึงคือการไปอบรมเรื่องการพูดต่อหน้าที่ชุมชน โดยผมไปเรียนที่สถาบันการพูดแบบการทูต ที่คิดค่าเรียนถูกมากคือ 300 บาท แทบจะเรียกว่าเป็นค่าเบรคกาแฟเสียมากกว่า และนั่นเป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้ผมมาทำงานขายประกันชีวิต
ผมได้พบผู้จัดการฝ่ายขายจากบริษัทเอไอเอ จำกัด คุณจีรวรรณ์ ภวเวช ท่านได้ชวนผมมาร่วมงานที่เอไอเอ ตอนนั้นผมคิดว่าคนขายประกันชีวิตสามารถขายฝันทั้งๆที่ไม่มีตัวสินค้า แสดงว่าเขาต้องมีศิลปะในการโน้มน้าวใจชั้นสูง ถ้าผมได้เรียนเทคนิคในสื่อสารนี้ ผมสามารถมาใช้ในชีวิตประจำวันได้มาก อีกทั้งผมเล็งเห็นว่าการวางแผนประกันชีวิตเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกครอบครัว ประเทศที่ยิ่งเจริญ ธุรกิจนี้ยิ่งโตตาม ผมจึงเข้าทำงานในธุรกิจนี้เต็มตัว
อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกๆ ผมยังมีวิธีฝึกฝนการพูดอีกอย่างคือ การซื้อเทปการหาเสียงของคุณสมัคร สุนทรเวช คุณชวน หลีกภัย หรือแม้แต่พระพยอม แห่งวัดสวนแก้ว มาฟังอยู่เสมอเพื่อพัฒนาการพูดของผม ถึงแม้มันดูเหมือนจะช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยหล่อเลี้ยงความฝันของผม
ทุกวันนี้ ผมสามารถพูดต่อหน้าคนจำนวนมากได้แล้ว ถึงแม้จะไม่ดีมากในเรื่องของจังหวะจะโคนในการพูด แต่ผมก็มั่นใจว่าผมสามารถเรียบเรียงเนื้อหาได้ดี เรื่องจังหวะลีลาน้ำเสียงในการพูด อาจต้องอาศัยพรสวรรค์มาช่วย แต่การกำหนดเนื้อหา ลำดับการเดินเรื่อง เราศึกษาเรียนรู้ได้ และผมคิดว่าผมผ่านในเรื่องนี้
อนึ่ง ทุกวันนี้ เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น เวลาผมขับรถไปทำงาน ถ้ามีเวลามากพอ ผมจะเปิดยูทูปแล้วฟังสุนทรพจน์ของคนสำคัญ เช่น คุณบารัค โอบามา, คุณฮิลลารี่ คลินตัน, คุณมิเชลล์ โอบามา ทำให้ได้ทั้งข้อคิดดีๆ เป็นการฝึกภาษาอังกฤษและฝึกการพูดไปในตัว ซึ่งผมอยากแนะนำให้ทุกคนลองทำดูครับ มีประโยชน์มากทีเดียว
การเขียนบทความ
ผมยังจำได้ดีถึงจุดอ่อนในการเขียนเรียงความของผม ตอนที่อยู่ชั้นประถม วันหนึ่งครูให้เขียนเรื่องชาวนา ผมเริ่มต้นเรียงความว่า “ชาวนาคือคนที่ปลูกข้าวเป็นอาชีพ โดยเริ่มหว่านไถในฤดูฝนในเดือน......” บังเอิญผมได้มีโอกาสอ่านของเพื่อนคนหนึ่งชื่อ ธนฤทธิ์ พันธุเมธา (ปัจจุบันเป็นดีเจชื่อดัง) เขาเขียนเรื่องเดียวกันว่า”กว่าจะได้เงินแต่ละบาท ชาวนาต้องทำงานจนเหงื่อไหลซิกๆ” ผมตระหนักขึ้นมาทันทีว่า ขณะที่ผมยังเขียนเรียงความประสาซื่อแบบเด็กๆ แต่เพื่อนผมกลับเริ่มเขียนโดยใช้เรื่องอารมณ์มาเร้าใจคนอ่าน ทำให้เรื่องน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ผมจึงคิดว่าผมต้องเปลี่ยนแนวการเขียนของผม แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องนี้เลยจนจบการศึกษามา
เมื่อมาอยู่ที่กรุงเทพ จึงได้มีโอกาสอ่านบทความของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันทุกวัน เห็นว่าเป็นแนวการเขียนที่น่าสนใจ สามารถชักจูงคนได้ดี จึงไปหาหนังสือที่รวบรวมบทความในคอลัมน์ของท่านมาอ่าน อ่านหลายๆเที่ยว จนจับแนวได้ และผมก็ พยายามใช้แนวทางของท่านมาใช้ในการเขียนมาโดยตลอด
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมทำและพวกเราอาจจะคิดไม่ถึงคือ ตอนที่ผมจบใหม่ๆ รายการโทรทัศน์ที่มีคนชมสูงสุดตอนนั้นคือภาพยนตร์จีนเรื่องมังกรหยก นอกจากการเดินเรื่องที่ตื่นเต้น เทคนิคทันสมัยแล้ว ทีมพากย์จากช่อง 3 ก็มีลีลาในการพากย์ที่ดีมาก พร้อมทั้งสอดแทรกคำคมเข้าไปอยู่เสมอ ผมถึงกับต้องเฝ้าหน้าจอ เตรียมสมุดมาและจดคำคมเพื่อใช้ในการพูดของตนเองเสมอ ตัวอย่างคำคมที่จดได้ เช่น “ทางโล่งเตียน มักเวียนไปสู่นรก ทางรกๆ มักวกขึ้นสู่สวรรค์” เป็นต้น
การฟังดนตรี
ผมเริ่มตระหนักตอนเรียนชั้นมัธยมว่า ดนตรีคลาสสิค และเพลงแจ๊ส ถือเป็นศิลปะชั้นสูงอย่างหนึ่งที่น่าสนใจที่คนทั่วโลกนิยมกัน ผมไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน ไม่มีใครเคยแนะนำ ผมจึงหาอ่านจากหนังสือ นิตยสารต่างๆเอง และเริ่มซื้อเทปคาสเสทของคีตกวีเอกของโลกมาฟัง ไม่ว่าจะเป็นบีโทเฟ่น, โมสาร์ท, โชแปง, บาคหรือวิวัลดี เชื่อไหมว่าเราฟังมันซ้ำๆ เราจะรู้สึกว่ามันไพเราะโดยไม่รู้ตัว จะไม่ไพเราะได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นผลงานระดับโลก และเมื่อเราได้ยินเพลงเหล่านี้ทุกครั้ง เราอดภาคภูมิใจไม่ได้ว่าเรากำลังฟังเพลงระดับโลกที่มีการเรียบเรียงอย่างสละสลวย
สำหรับเพลงแจ๊สต้องบอกว่าค่อนข้างฟังยากในช่วงต้น ผมเริ่มจากการฟังเพลงที่ง่ายๆ ออกไปทางเพลงป๊อบ เช่น เพลงของหลุยส์ อาร์มสตรอง, เรย์ ชาร์ลส์, เอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ และบีบี คิงส์ เป็นต้น ทุกวันนี้ เมื่อมีเพลงดังๆของคนเหล่านี้แว่วเข้ามา ก็ระลึกถึงวันคืนเก่าๆ และมีความสุข เช่น เมื่อได้ฟังเพลง What a wonderful world, Georgia on my mind เป็นต้น
ถามว่าตลอดชีวิต ผมพยายามเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับชีวิต แล้วยังมีเรื่องอะไรที่ยังไม่ได้ทำบ้าง ขอตอบว่ามีครับ น่าจะเยอะด้วย หลายอย่างได้พยายามเรียนรู้แล้วบ้าง แต่มันใช้เวลาและสมาธิมาก เช่น การฝึกสมาธิ, การอ่านประวัติศาสตร์โลก, การอ่านบทประพันธ์ระดับโลก ก็หวังว่าจะค่อยๆหาเวลาศึกษาไปทีละเรื่อง ถือเป็นรางวัลชีวิตที่โลกมอบให้เรา จะได้ไม่เสียทีที่เกิดมาครับ
ความสุขของชีวิตม อาจมีคนสงสัยว่า ตลอดชีวิตผมเอาแต่คิดทำเรื่องที่เป็นหลักการ จนไม่คิดที่จะหาความสุขให้กับชีวิตเลยเหรอ ขอตอบว่า การใช้ชีวิตเหมือนการทานอาหาร มีอาหารให้เลือกนับล้านเมนู ทำไมต้องไปทานอาหารที่ชอบแต่ไร้ประโยชน์ ทำไมไม่เลือกทานอาหารที่อร่อยด้วยและเป็นประโยชน์ด้วย ชีวิตก็เป็นเช่นนั้น เราสามารถเลือกเรียนรู้สิ่งที่มีประโยชน์และให้ความเพลิดเพลินในการเรียนรู้ด้วย จริงอยู่ ในช่วงต้นของการเรียนศิลปะชั้นสูง เราอาจรู้สึกว่ายากและอึดอัด แต่เมื่อเราเข้าใจมันแล้ว มันจะนำความสุขมาให้อย่างคุ้มค่า
มีคนบอกว่า ผมทำอย่างคุณบรรยงไม่ได้หรอก ผมไม่เก่งอย่างคุณบรรยง ผมขอบอกว่าทุกเรื่องที่ผมเล่ามา เป็นปมด้อยของผมทั้งสิ้น แต่ผมไม่ยอมจำนนกับมัน ผมดิ้นรนหาที่ฝึกเพื่อเอาชนะมัน บางอย่างทำได้ดี บางอย่างพอทำได้ แต่ผมดีกว่าเก่าทุกวัน มีวิทยากรท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “การทำซ้ำคือมารดาแห่งการเรียนรู้” นี่คือเคล็ดลับของผมเลย ผมซื้อหนังสือมา ซื้อเทปมา อ่านมัน ฟังมัน ท่องมัน ทำซ้ำๆทุกวัน จนผมดีขึ้นกว่าเดิม ผมมักบอกทีมงานที่บริษัทว่า มีพระสงฆ์จำนวนมากสวดมนต์เป็นชั่วโมงโดยไม่รู้ความหมาย ท่านยังท่องได้อย่างคล่องแคล่ว และท่านก็ไม่ได้จบด็อกเตอร์ที่ไหน ดังนั้น อะไรก็ตามที่เราทำซ้ำทุกวัน เราจะทำมันได้ในที่สุดครับ
ชีวิตของเรา
จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ นักเขียนวรรณกรรมชื่อก้องโลก กล่าวไว้ว่า “ชีวิตไม่ใช่เรื่องของการค้นหาตัวเอง แต่คือการสร้างตัวเอง” คุณอยากมีชีวิตแบบไหน คุณต้องสร้างมันขึ้นมาครับ เพราะชีวิตคือผลลัพธ์ของสิ่งที่คุณทำอยู่ทุกๆวัน
อย่าลืมนะ คุณมีแค่ชีวิตเดียว ใช้มันให้ดีล่ะ
"พิชิต" - Google News
June 22, 2020 at 05:33PM
https://ift.tt/2V4p0cY
พิชิตปมด้อย สร้างชีวิตในแบบที่เราอยากเป็น - สยามรัฐ
"พิชิต" - Google News
https://ift.tt/2TwDilR
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3d22Xu4
Bagikan Berita Ini
0 Response to "พิชิตปมด้อย สร้างชีวิตในแบบที่เราอยากเป็น - สยามรัฐ"
Post a Comment