Search

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2563 - อาร์วายที9

refe.prelol.com

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเรื่อง ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ ดังนี้

1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสอง ปี 2563

1.1 การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง การว่างงานเพิ่มขึ้น ค่าจ้างแรงงานลดลงสถานการณ์ การจ้างงานในไตรมาสสอง ปี 2563 ปรับตัวลดลง โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 37.1 ล้านคน ลดลงร้อยละ 1.9 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2562 เป็นการลดลงทั้งผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมที่ลดลงร้อยละ 0.3 และนอกภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 2.5 สำหรับสาขาที่มีการจ้างงานลดลงมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาการผลิต สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ลดลงร้อยละ 6.3 4.4 และ 2.8 ตามลำดับ ส่วนสาขาการขายส่ง/ขายปลีก ลดลงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.0 เนื่องจากยังเปิดดำเนินการได้บางส่วน ขณะที่สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัวร้อยละ 0.1

ไตรมาสสองปี 2563 รัฐบาลมีมาตรการชดเชย เยียวยาให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบด้วย

(1) แรงงานผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ. ประกันสังคมที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงงานด้วยเหตุสุดวิสัยจำนวนประมาณ 0.92 ล้านคน

(2) แรงงานผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่อยู่ในสถานประกอบการที่หยุดงานด้วยเหตุสุดวิสัย แต่ไม่สามารถขอรับเงินชดเชยเนื่องจากจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ไม่ครบ 6 เดือนตามเงื่อนไข จำนวนทั้งสิ้น 59,776 คน โดยจะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และ

(3) แรงงานนอกระบบที่เป็นกลุ่มแรงงานอิสระ 15.3 ล้านคน และเกษตรกร 7.75 ล้านคน ยังได้รับการเยียวยาในสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ตาม พ.ร.ก. กู้เงินฯ ด้วย โดยได้รับการเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีสภาพคล่องมากขึ้น และบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดได้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการในด้านอื่น อาทิ มาตรการภาษี มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการและรักษาการจ้างงานได้ระดับหนึ่ง

การจำกัดการแพร่ระบาดของรัฐโดยการปิดสถานที่ และจำกัดการเดินทางระหว่างพื้นที่ ทำให้ชั่วโมงการทำงานของภาคเอกชนลดลงร้อยละ 13.4 จาก 46.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในไตรมาสสอง ปี 2562 เหลือ 40.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในไตรมาสสอง ปี 2563 ขณะเดียวกันจำนวนผู้ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ทำงานน้อยกว่าการทำงานปกติ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 68.0 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มจาก 6.0 ล้านคน เป็น 10.1 ล้านคน

สถานการณ์การว่างงาน ผู้ว่างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 0.75 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.95 เพิ่มขึ้น 1 เท่าจากอัตราการว่างงานในช่วงปกติ และเป็นอัตราการว่างงานที่สูงสุดตั้งแต่ไตรมาสสองปี 2552 ผู้ว่างงานร้อยละ 64.2 เคยทำงานมาก่อน โดยร้อยละ 58.7 สาเหตุที่ว่างงานเกิดจากสถานที่ทำงานเลิก/หยุด/ปิดกิจการหรือหมดสัญญาจ้าง

ผู้ประกันตนรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (รายใหม่) ในช่วงไตรมาสสองเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน จำนวน 0.12 ล้านราย โดยสูงสุดในเดือนพฤษภาคมที่ 0.17 ล้านราย และปรับตัวลดลงในเดือนมิถุนายน เหลือ 0.13 ล้านราย ทั้งนี้ รัฐบาลมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2563 ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วจำนวน 11 โครงการ รวมวงเงิน 42,964 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างงานได้ 86,103 ตำแหน่ง โดยมีระยะเวลาการจ้างงาน 3-12 เดือน ที่จะช่วยให้ผู้ว่างงานสามารถมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น

ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตลาดแรงงานจะยังได้รับผลกระทบที่ต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปี โดยมีประเด็นที่ต้องติดตามคือ

(1) แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ที่ยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน จะส่งผลให้ธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่ที่มีสภาพคล่องสำรองเพียงพอสำหรับรองรับวิกฤตได้ไม่เกิน 6 เดือนอาจเลิกจ้างงานและปิดกิจการ โดยเฉพาะสถานประกอบการที่ขอใช้มาตรา 75 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขอหยุดชั่วคราว แต่ยังต้องรับภาระในการจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างอยู่ และผู้จบการศึกษาใหม่ในปี 2563 ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 0.52 ล้านคน มีแนวโน้มจะหางานทำได้ยากขึ้น หรืออาจต้องใช้ระยะเวลาในการหางานนานกว่าปกติ

(2) ปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องและสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จะส่งผลต่อการจ้างงานใน ภาคเกษตร และกระทบต่อรายได้แรงงาน อีกทั้งภาคเกษตรอาจจะสูญเสียความสามารถในการดูดซับแรงงานจากนอกภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และ

(3) ผลของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อการจ้างงาน ซึ่งต้องติดตามผลของการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดว่าสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยปัจจุบันแม้ว่าจะได้รับการอนุมัติโครงการไปแล้วบางส่วน แต่โครงการส่วนใหญ่จะเริ่มการจ้างงานภายในเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งหากมีความล่าช้าอาจทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานได้อย่างเต็มที่

1.2 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงทุกประเภท

สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสหนึ่งปี 2563 มีมูลค่า 13.48 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 ชะลอลงจาก ร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากความเชื่อมั่นที่ลดลงตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ความต้องการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนปรับตัวลดลง รวมถึงความต้องการสินเชื่อของครัวเรือนในเกือบทุกประเภท สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 80.1 สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสสอง ปี 2559 ขณะที่ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อด้อยลง โดย ณ สิ้นสุดไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 ยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 156,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 และมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.23 เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 2.90 ในไตรมาสก่อน

แนวโน้มสินเชื่อครัวเรือนในไตรมาสสอง ปี 2563 ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการสินเชื่อในภาพรวมที่ปรับตัวลดลง ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามระดับการหดตัวทางเศรษฐกิจที่จะรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน รวมถึงต้องเฝ้าระวังและติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจัยของภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาภัยแล้ง และความไม่แน่นอนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ภาคครัวเรือนเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่องและความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเงินที่ต่อเนื่องมาจากโครงสร้างทางการเงินของครัวเรือนที่เปราะบาง สะท้อนจากจำนวนลูกหนี้รายย่อยขอรับความช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านสถาบันการเงินที่สูงถึง 11.6 ล้านบัญชี (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563) ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมระยะที่ 2 เนื่องจากมาตรการ

ในระยะแรกจะทยอยครบกำหนดในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้โดยเฉพาะทางด้านภาระค่าใช้จ่ายและโอกาสการผิดชำระหนี้ของลูกหนี้

อย่างไรก็ตาม มาตรการภาครัฐที่ผ่านมายังคงเน้นช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของภาคครัวเรือนจากผลกระทบการแพร่ระบาด COVID-19 ผ่านการขยายมาตรการทางการเงินต่างๆ แต่ผลกระทบจากการหดตัวเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว ทำให้รายได้ของครัวเรือนบางส่วนขาดหายไปหรือลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาว ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นเร่งฟื้นฟูและยกระดับรายได้ภาคครัวเรือนให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วและเสริมสร้างกันชนทางการเงินโดยเฉพาะเงินออมของภาคครัวเรือนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นเพื่อสามารถรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบการเงินของประเทศ

1.3 การเจ็บป่วยโดยรวมลดลง แต่มีการระบาดของไข้เลือดออกอย่างรุนแรงในบางพื้นที่ ไตรมาสสอง ปี 2563 มีผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังรวม 53,756 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอย่างมากถึงร้อยละ 66.5 ซึ่งเป็นการลดลงในทุกโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลงร้อยละ 92.2 ผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ลดลงร้อยละ 91.5 ผู้ป่วยโรคหัดลดลงร้อยละ 91.0 ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 44.2 และผู้ป่วยโรคปอดอักเสบลดลงร้อยละ 43.6 จากการเฝ้าระวังและดูแลตัวเอง รวมทั้ง การเว้นระยะทางกายภาพ ทำให้โอกาสในการสัมผัสเชื้อโรคจากสถานที่หรือจากบุคคลลดลง อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกที่แม้ในภาพรวมของประเทศจะมีผู้ป่วยลดลง แต่มีแนวโน้มจะกลับมาระบาดอีกครั้งในบางพื้นที่จากการเข้าสู่ช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ ต้องเฝ้าระวังโรคระบบทางเดินหายใจ 5 โรคที่มากับฤดูฝน ได้แก่ โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคคออักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ และโรคปอด รวมถึงโรคเครียดและปัญหาทางจิต จากความกังวลต่อการแพร่ระบาด COVID-19 และผลกระทบต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ป่วยเดิมมีแนวโน้มเครียดมากขึ้นจากช่วงกักตัวและไม่ได้พบแพทย์

1.4 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง ไตรมาสสอง ปี 2563 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงร้อยละ 9.7 โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 17.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดสถานบันเทิงในเดือนเมษายน-ปลายมิถุนายน รวมถึงการประกาศห้ามออกจากเคหะสถานในเดือนเมษายน–ปลายพฤษภาคม ขณะที่การบริโภคบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ที่มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย โฆษณาเชิญชวน รวมถึงการบริการจัดส่งถึงที่ โดยไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ซื้อ ซึ่งอาจกระตุ้นให้การบริโภคเพิ่มขึ้นได้ และที่สำคัญจะทำให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย จนเกิดนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นและอายุน้อยลง

1.5 คดีอาญารวมลดลง แต่ยังคงต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการลักลอบค้ายาเสพติด การประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างเข้มงวด ไตรมาสสอง ปี 2563 คดีอาญารวมลดลงร้อยละ 13.4 จาก ไตรมาสเดียวกันของปี 2562 โดยลดลงทั้งการรับแจ้งคดียาเสพติดร้อยละ 13.9 คดีชีวิตร่างกายและเพศร้อยละ 21.7 และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ร้อยละ 5.7 แต่ยังคงต้องให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมอย่างเข้มงวด เน้นการตรวจตราและเฝ้าระวังป้องกันการลักลอบค้ายาเสพติด รวมทั้งกลุ่มมิจฉาชีพที่มุ่งหวังชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น

1.6 การเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุจากจักรยานยนต์ ไตรมาสสอง ปี 2563 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 26.7 และ 38.4 ตามลำดับ สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากบุคคลสูงสุดคือ การขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ รถจักรยานยนต์ การป้องกันหรือลดอุบัติเหตุได้ด้วยความร่วมมือจาก ผู้ขับขี่รถรักษากฎระเบียบจราจรอย่างเคร่งครัด คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญอย่างมากกับปัจจัยทางถนนและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย

1.7 การร้องเรียนผ่าน สคบ. ลดลง ขณะที่การร้องเรียนผ่าน กสทช. เพิ่มขึ้น ไตรมาสสอง ปี 2563 สคบ. ได้รับการร้องเรียนสินค้าและบริการลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ร้อยละ 15.8 ซึ่งการร้องเรียนในประเด็นการจองตั๋วเครื่องบิน/สายการบินยังคงอยู่ในระดับสูง จากการขอคืนค่าโดยสารและไม่ได้รับเงินคืนตามกำหนด ขณะที่การร้องเรียนผ่าน กสทช. เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการ นอกจากนี้ มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมีการสั่งปิดสถานที่เสี่ยงในการแพร่เชื้อ ทำให้ผู้คนหันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการร้องเรียนผ่านกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม ปัญหาทางออนไลน์ที่ ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือปัญหาจากการซื้อขายทางออนไลน์ โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นและอุปกรณ์ไอที โดยศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานหลายภาคส่วนและมีการประยุกต์ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ในเชิงรุก อีกทั้งได้มีแนวทางในการรับมือเมื่อประสบปัญหาการซื้อขายออนไลน์ คือ

(1) ถ่ายภาพความบกพร่องของสินค้าและนำไปแจ้งความเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน

(2) นำหลักฐานติดต่อไปยังผู้ขายหรือช่องทางของแต่ละแพลตฟอร์ม และ

(3) หากมีปัญหาสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อรองรับกิจกรรมซื้อขายออนไลน์ที่ขยายตัว

2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ

2.1 การปรับตัวทางการศึกษาในภาวะการระบาดของ COVID-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงได้ส่งผลกระทบต่อภาคการศึกษาและนักเรียนทั่วโลก โดยประเทศไทยมีประชากรวัยเรียนในทุกระดับชั้นได้รับผลกระทบประมาณ 14 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนักเรียนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการหลุดออกจากระบบห้องเรียนคือ นักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานประมาณ 11.47 ล้านคน ทั้งนี้ งานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา การปิดโรงเรียนหรือการเปิดเรียนล่าช้า 1 เดือน จะส่งผลกระทบ ต่อ GDP ของประเทศในระยะยาวร้อยละ 0.1-0.3 และการที่นักเรียนต้องอยู่บ้านเป็นระยะเวลานาน จะยิ่งทำให้ลืมสิ่งที่เคยเรียนมา ต้องทบทวนซ้ำอีกครั้ง หรือเรียกว่าปรากฏการณ์ความรู้ที่ถดถอยไปหลังจากปิดเทอมใหญ่ และยังพบ การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนประมาณ 6 สัปดาห์ อาจทำให้ความรู้หายไปถึงครึ่งปีการศึกษา ซึ่งจะเป็นผลกระทบที่สำคัญต่อฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว การดำเนินงานของภาครัฐในการแก้ปัญหาการศึกษาจากผลกระทบของ COVID-19 ประเทศไทยได้มีการจัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบชั่วคราว โดยดำเนินการแก้ปัญหาผ่านแพลตฟอร์มการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ผ่าน 3 ช่องทางคือ (1) โทรทัศน์ช่อง DLTV

(2) ผ่านเว็บไซต์ DLTV และ

(3) แอปพลิเคชัน DLTV เพื่อแก้ปัญหาการเรียนล่าช้าและการหลุดออกจากระบบห้องเรียนของเด็ก โดยมีการวางแผนการจัดการเรียนการสอนไว้สำหรับทั้งกรณีที่สถานการณ์การ แพร่ระบาดคลี่คลายและยังไม่คลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีสถานการณ์และผลกระทบที่สำคัญจากการจัดการเรียนการสอนผ่านทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ดังนี้

(1) ความไม่พร้อมด้านสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้นอกห้องเรียน และการที่ต้องรับภาระในการจัดหาอุปกรณ์ในการเรียนรู้ โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนยากจน รวมถึงการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต และความเสถียรและความเร็วของอินเทอร์เน็ต

(2) ความไม่พร้อมทั้งรูปแบบและเนื้อหาการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบ DLTV ของครูผู้สอน ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพในการเรียนรู้ และการขาดสมาธิและทักษะที่มีความจำเป็นด้านอื่นๆ อาทิ การเรียนรู้ร่วมกัน การมีปฏิสัมพันธ์ การทำงานเป็นทีม ทักษะด้านอารมณ์ และทักษะด้านการสื่อสารของนักเรียน

(3) เด็กบางส่วนไม่ได้รับการดูแลอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะนักเรียนในกลุ่มครัวเรือนยากจนซึ่งจะไม่ได้รับอาหารและอาหารเสริมจากทางโรงเรียน และนักเรียนกลุ่มพิเศษ นักเรียนผู้พิการ ผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านต่างๆ ที่ผู้ปกครองไม่สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด หรือต้องขาดรายได้จากการต้องมาดูแลกลุ่มเด็กดังกล่าว ข้อเสนอการปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต คือ

(1) การเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม

(2) การจัดสื่อการเรียนการสอนที่จูงใจการเรียนรู้ รูปแบบการสอนที่หลากหลายเหมาะสมกับวัยและช่วงเวลา และ

(3) การพัฒนาเทคนิควิธีการสอน กระบวนการจัดการเรียนการสอน และการเตรียมความพร้อมของครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยี

2.2 ความท้าทายของการออกแบบระบบการคุ้มครองทางสังคม

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อผู้มีงานทำและประชาชนทั่วไป จนทำให้ภาครัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นมารองรับประชาชนจำนวนหนึ่งที่หลุดรอดออกจากระบบการคุ้มครองทางสังคมที่มีอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ ลูกจ้าง/ผู้ประกอบการอิสระ ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคม โดยจากการสำรวจแรงงานนอกระบบ ปี 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีผู้มีงานทำทั้งหมด 37.5 ล้านคน โดยเป็นผู้มีหลักประกันทางสังคมร้อยละ 50.4 และเป็นผู้ไม่มีหลักประกันร้อยละ 49.6 ทั้งนี้ ในปีเดียวกัน มีแรงงานนอกระบบสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 มีสัดส่วนเพียง 4.8 ล้านคน หรือเป็น 1 ใน 5 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด แม้ว่าที่ผ่านมานโยบายของภาครัฐได้พยายามผลักดันให้แรงงานนอกระบบสามารถเข้าร่วมกองทุนประกันสังคมแต่ยังคงเพิ่มขึ้นเพียงช้าๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากสิทธิประโยชน์หรือเงื่อนไขที่อาจไม่จูงใจ การมีข้อจำกัดจากการอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การมีรายได้ไม่เพียงพอ รวมถึงการไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีหลักประกัน ทั้งนี้ ผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID–19 ได้สะท้อนว่าแม้แรงงานที่มีประกันสังคมตามมาตรา 39 และมาตรา 40 แต่การขาดสิทธิประโยชน์จากการว่างงานหรือการสูญเสียรายได้จากการทำงาน ทำให้เมื่อได้รับผลกระทบรัฐจึงจำเป็นต้องรับภาระในการดูแล

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับแรงงานนอกระบบ คือ การไม่มีหลักประกันรองรับในยามเกษียณ อีกทั้งประชาชนบางส่วนที่ยังไม่ให้ความสำคัญในการวางแผนทางการเงินและขาดวินัยในการออม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายและต่อคุณภาพในการดำรงชีพ แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือในโครงการสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยมาตรการช่วยเหลือนี้จะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ดังนั้น การพัฒนาระบบประกันสังคมถือเป็นความท้าทายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องศึกษาหาสาเหตุที่ทำให้แรงงานนอกระบบจำนวนมากไม่ตัดสินใจสมัครเข้ากองทุนประกันสังคม และศึกษาหาแนวทางในการพัฒนาและออกแบบระบบประกันสังคมให้จูงใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนโดยความสมัครใจอาจไม่สามารถสร้างความคุ้มครองให้ประชาชนได้ทั้งหมด จึงอาจต้องมีการเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของทั้งระบบสมัครใจและระบบบังคับให้มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย รวมถึงการศึกษาถึงแนวทางการส่งเสริม การสร้างความรู้เกี่ยวกับการมีหลักประกันตนทั้งในวัยแรงงานและวัยเกษียณ และการอำนวยความสะดวกที่จะทำให้ผู้ที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงระบบได้ง่ายโดยการปรับปรุงกลไกการทำงานระบบประกันสังคม ซึ่งหากไม่สามารถดึงแรงงานนอกระบบให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ ก็จะเกิดเป็นอีกหนึ่งความท้าทายว่าจะมีระบบใดมาช่วยดูแลคุ้มครองประชาชนทั้งในยามที่เกิดวิกฤติและในสภาวะปกติได้

3. บทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยร้าง : วิกฤตอุดมศึกษาไทย”

แนวโน้มจำนวนนักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีที่ว่างในมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก รายได้ของมหาวิทยาลัยลดลง ท้าทายให้สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ที่ผ่านมาจำนวนมหาวิทยาลัยของไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก หากมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนสถานศึกษาจากการขยายวิทยาเขตของสถาบันที่มีชื่อเสียง และการเปิดหลักสูตรเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่นักศึกษาใหม่มีแนวโน้มลดลงทุกปี สะท้อนให้เห็นได้จากสถิติผู้สมัครและผู้ผ่านการคัดเลือกในระบบ TCAS (รอบที่ 4) ในช่วงปี 2558–2562 ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาวะสถาบันศึกษาล้นมีปัจจัยมาจากโครงสร้างประชากรไทยที่มีอัตราการเกิดลดลง ส่งผลให้จำนวนนักศึกษาลดลง รวมทั้งการขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระดับสูงทำให้มีการเปิดวิทยาเขต และหลักสูตรใหม่ๆ ที่สนองความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงาน เพื่อดึงดูดนักเรียนนักศึกษา

ท่ามกลางการลดลงของจำนวนผู้เรียน การแข่งขันในการดึงดูดผู้เรียนของสถาบันอุดมศึกษาที่สูง รวมถึงการพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นความท้าทายที่นำมาซึ่งการปรับตัวของสถาบันการศึกษาเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ ที่ผ่านมาสถาบันอุดมศึกษามีความพยายามในการปรับตัว อาทิ

(1) การปรับหลักสูตรให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานและแต่ละช่วงวัย โดยการปรับหลักสูตรให้สอดรับกับตลาดแรงงาน โดยส่งเสริมการเรียนแบบสหวิชาการ การพัฒนาหลักสูตรรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น เพื่อตอบสนองต่อคนแต่ละวัยและส่งเสริม การเรียนรู้ตลอดชีวิต

(2) การพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยการใช้นวัตกรรมการศึกษาในการจัดการเรียนการสอน การเปิดหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ และ

(3) การขยายกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการขยายกลุ่มเป้าหมายการรับนักศึกษาที่ครอบคลุมไปถึงนักศึกษาต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวทำให้การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งระหว่างสถาบันการศึกษาภายในประเทศ และสถาบันการศึกษาภายในประเทศกับต่างประเทศ และการแข่งขันเพื่อดึงดูดนักศึกษาที่รุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา และการคงอยู่ของสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงหรือคุณภาพน้อยกว่า รวมทั้งแนวทางการปรับตัวยังขาดการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและบูรณาการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับและสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการศึกษาภายในประเทศ ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในอนาคต ได้แก่

(1) การกำหนดแนวทางการปรับตัวที่เป็นเอกภาพ โดยการบริหารจัดการและบูรณาการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ทั้งในด้านบุคลากรและทรัพยากรต่างๆ การขยายงานวิชาการทั้งในด้านศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การบริการสังคม ตลอดจนการวิจัยเพื่อการพาณิชย์ที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

(2) การนำแนวคิดด้านการตลาดมาใช้ในการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา โดยดึงอัตลักษณ์และความแข็งแกร่งทางวิชาการมาเป็นจุดขายในการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อพัฒนาสถาบันให้ตรงจุดที่ควรมุ่งเน้น รวมถึงการบริหารต้นทุนของมหาวิทยาลัย อาทิ การลดต้นทุนในด้านที่มิใช่จุดแข็งของมหาวิทยาลัยโดยการยุบ/รวม สาขาที่มิใช่ความเชี่ยวชาญ/ไม่สามารถแข่งขันได้ของมหาวิทยาลัย

(3) การทบทวน/ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียนและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การจัดการเรียนการสอนที่เน้นภาคปฏิบัติ การพัฒนาหลักสูตรเพื่อดึงดูดนักเรียนต่างชาติเข้ามาชดเชยปริมาณนักศึกษาไทยที่ลดลง การเปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น/หลักสูตรอาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ต่างๆ แก่คนทำงาน ผู้ว่างงาน และผู้สูงอายุ

(4) การนำนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนมาใช้ในมหาวิทยาลัย อาทิ การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่ให้นักศึกษาสามารถจัดองค์ประกอบของวิชาเรียนได้ การพัฒนารายวิชาใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์บริบทการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในระบบการเรียนการสอนมากขึ้น และ

(5) การส่งเสริมการวิจัยที่มุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ รวมทั้งทบทวน/ปรับปรุงระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาของรัฐ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีความคล่องตัวในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 สิงหาคม 2563


Let's block ads! (Why?)



"สอง" - Google News
August 18, 2020 at 07:13PM
https://ift.tt/2YcjCG6

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2563 - อาร์วายที9
"สอง" - Google News
https://ift.tt/3cPqHBD
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3d22Xu4

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2563 - อาร์วายที9"

Post a Comment

Powered by Blogger.