Search

คอลัมน์การเมือง - เหรียญสองด้าน ปมจัดซื้อเรือดำน้ำ - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

refe.prelol.com

เรื่องงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำ กลับมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้ง

ล่าสุด ที่ประชุมคณะอนุกมธ.ครุภัณฑ์ฯ มีมติเห็นชอบ ให้ผ่านงบประมาณกองทัพเรือ ในส่วนของการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ตามโครงการเดิมที่มีข้อตกลงแบบ G to G หรือรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน


หลังคณะอนุฯ พิจารณาแล้ว ก็จะต้องเสนอที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณฯ ชุดใหญ่ แล้วหลังจากนั้น ก็ยังต้องเสนอที่ประชุมใหญ่สภาผู้แทนราษฎรต่อไปอีก

1.น่าสังเกตว่า ในวันที่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว มีแต่ข่าวการแถลงของอนุฯ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการผ่านงบประมาณดังกล่าว ทำนองว่าพิจารณางบจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนของกองทัพเรือ จำนวน 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท สร้างภาระทางการเงินแก่ประเทศชาติ ในยามเศรษฐกิจต้องเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19

แต่สังคมยังไม่ได้รับข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า ทำไมเสียงข้างมากจึงเห็นชอบให้ผ่านงบประมาณก้อนนี้

มันไม่มีเหตุผล ความจำเป็นใดๆ เลย จริงหรือ?

2.ประเด็นจัดซื้อเรือดำน้ำ เคยมีการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์กันมาหลายรอบแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะมีการเซ็นข้อตกลงจีทูจีกับทางการจีน ว่าโครงการนี้จะจัดซื้อกันทั้งหมด 3 ลำ

ด้านที่เป็นข้อเสียแน่ๆ คือ ต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินจัดซื้อจัดหามา วงเงินรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมค่าระบบอาวุธติดตั้งค่าฝึกอบรม ค่าซ่อมบำรุงรักษา ฯลฯ

แน่นอน โลกนี้ ไม่มีอะไรฟรี

และสินค้าพวกเรือดำน้ำ ไม่ใช่ว่า มีเงินอย่างเดียวจะซื้อได้เสมอไป เพราะประเทศผู้ขายจะพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย จึงจะยินยอมขาย และถ่ายทอดวิธีใช้เทคโนโลยีระดับนี้ให้แก่ประเทศอื่น ซึ่งนั่นหมายถึงการกระชับความสัมพันธ์แน่นแฟ้น

3.จากราคาข้างต้นที่เปิดเผยออกสู่สาธารณะนั้น ประกอบกับเป็นการจัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ซึ่งงานนี้เป็นจีทูจีของแท้ (ไม่เหมือนข้าวจีทูเจี๊ยะยุครัฐบาลทักษิณคิดเพื่อไทยทำ ที่ทางการจีนไม่ได้เซ็นต์ตกลงหรือรับรู้ด้วยเลย จนโกงฉิบหายนับแสนล้านบาท)

เพระฉะนั้น ทางการจีนก็ทราบว่ารัฐบาลไทยอนุมัติจ่ายเงินทั้งหมดกี่ล้านบาท หากจะมีใครจะกินสินบน หักค่าเปอร์เซ็นต์ไป ย่อมจะต้องปรากฏชัดเจน ถูกตรวจสอบได้ และไม่น่าจะรอดสันดอน

4.จากข้อมูลล่าสุด (ปี 2558) พบว่า ประเทศในอาเซียน ที่มีอาณาเขตติดทะเล ต่างก็มีเรือดำน้ำประจำอยู่แล้วในขณะนี้เกือบทั้งหมด

สิงคโปร์ มีเรือดำน้ำ 6 ลำ จะซื้อเพิ่มอีก 2 ลำ

เวียดนาม มีเรือดำน้ำ 4 ลำ จะซื้อเพิ่มอีก 2 ลำ

อินโดนีเซีย มีเรือดำน้ำ 2 ลำ จะซื้อเพิ่มอีก 3 ลำ

มาเลเซีย มีเรือดำน้ำ 2 ลำ

บางประเทศอยู่ระหว่างเจรจาจัดซื้อจัดหา (บางประเทศอาจมีมากกว่าที่ปรากฏข้างต้น)

ส่วนไทย ลงนามข้อตกลงจีทูจีกับจีนไปแล้ว 3 ลำ ทยอยจัดซื้อ ทยอยจ่ายเงิน ทยอยส่งมอบ

ปัจจุบัน ลำแรกระหว่างการประกอบสร้าง ควบคู่กับทหารเรือไทยไปฝึกปฏิบัติการที่ประเทศจีน ยังไม่ได้รับมอบ

5.แหล่งข่าวที่เป็นอนุกรรมาธิการฯ ท่านหนึ่ง เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์และข้อมูลในการพิจารณาว่า

“...ขอเล่าเหตุการณ์ในการประชุมคณะอนุกรรมการครุภัณฑ์ ICT เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 โดยมีหน่วยงานคือกองทัพเรือเข้ามาชี้แจงในคณะและวันนี้จะต้องสรุปในส่วนของเรือดำน้ำว่าคณะจะผ่านให้หรือไม่ ซึ่งกลาโหมได้อนุมัติเห็นชอบโครงการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ ไว้แล้ว เมื่อปีงบประมาณ ’60 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558

เราพิจารณาเรื่องนี้กันมาเป็นครั้งที่ 2 ในรอบแรกเราพูดกันหลายชั่วโมง เราบอกหน่วยงานว่า คุณต้องเอาเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สามารถจะยกเลิกหรือเลื่อนการซื้อเรือดำน้ำไปได้มาให้คณะเราทราบในข้อเท็จจริง เราจึงแขวนไว้เนื่องจากหน่วยงานเตรียมเอกสารมาไม่เพียงพอ แล้วกลับมาใหม่ในวันที่ 21 สิงหาคม 2563

ในการประชุมครั้งที่ 2 เรามีผู้สังเกตการณ์ คือ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร่วมรับฟังในห้องพิจารณาและได้ออกความเห็น ก่อนที่คณะอนุฯ จะมีการลงมติว่าเห็นด้วยกับการที่กองทัพเรือจะจัดซื้อเรือดำน้ำด้วยเหตุผลและความจำเป็นที่ทางกองทัพเรือได้อธิบายให้คณะของเราฟัง แต่ขอให้เลื่อนออกไปก่อน แต่หน่วยงานก็ยืนยันว่าจะเกิดความเสียหายต่อรัฐและผลกระทบกับประเทศไม่ว่าจะเป็นในด้านของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนที่มีมาอย่างยาวนาน และจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของประเทศไทย ถ้าเราผิดข้อตกลงไม่ทำตามที่ได้ตกลงกันไว้ คือ ต้องซื้อเรือ 3 ลำ ในราคา 36,000 ล้านบาท ตกลำละ 12,000 ล้านบาท โดยแบ่งการชำระออกเป็น 6 ปี เป็นงบผูกพัน เฉลี่ยชำระปีละ 1,000 กว่าล้านบาทต่อลำ และจีนยังมีการเพิ่มเติมสนับสนุนในเรื่องที่มีความสำคัญและมีมูลค่าสูงคือการทดสอบการดำ การฝึกกำลังพล การซ่อมบำรุง การสนับสนุนอะไหล่และ จรวดนำวิถี, ทุ่นระเบิด,ตอร์ปิโด รวม 4 ราย การมูลค่า 2,100 ล้านบาท โดยเกิดจากความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างไทย-จีนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งเราได้มีการจัดซื้อเรือลำแรกไปแล้วเมื่อปี’60 และเรามีข้อตกลงที่จะซื้อลำที่ 2 และ 3 ซึ่งออกเป็นกฎหมายแล้วอยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณปี’63 โดยต้องเซ็นสัญญาไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2563

กองทัพเรือได้แจ้งว่าถ้าเราชะลอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ 2 ลำ ออกไป จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทย และจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน ด้านอื่นๆ เช่น การค้า การลงทุนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในด้านการส่งออกและนำเข้า และนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยก็สูงเป็นอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด หากจีนไม่มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทยอาจจะส่งผลกระทบต่อความเห็นของรัฐบาลจีนซึ่งจะเกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

ในด้านความมั่นคง จากการที่ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการเรือดำน้ำไม่เพียงพอและไม่สามารถดำเนินยุทธศาสตร์การป้องปรามได้ ย่อมส่งผลถึงกำลังอำนาจแห่งชาติทางทหารของประเทศไทยและกำลังอำนาจของชาติในการเจรจาต่อรองในเวทีระหว่างประเทศ

ในทางยุทธศาสตร์ การมีเรือดำน้ำเพียง 1 ลำ ไม่สามารถดำเนินยุทธศาสตร์การป้องปรามได้ เนื่องจากสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวได้ง่าย หากพบเรือดำน้ำ 1 ลำ ในพื้นที่หนึ่ง ก็สามารถยืนยันว่าอีกพื้นที่หนึ่งไม่มีเรือดำน้ำปฏิบัติการอยู่ แต่ถ้าเรามีเรือ 3 ลำ เมื่อพบเรือ 1 ลำ ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าพื้นที่อื่นๆ จะไม่มีเรือดำน้ำปฏิบัติการอยู่

ในด้านงบประมาณ จีนจะไม่ยืนราคาในกรณีที่ไม่ทำตามสัญญา อาจจะส่งผลทำให้ราคาของเรือดำน้ำสูงขึ้นเนื่องจากวัสดุอุปกรณ์สำหรับการสร้างมีราคาสูงขึ้นและภาวะเงินเฟ้อ และจะไม่ได้รับอุปกรณ์และระบบต่างๆ เพิ่มเติมในวงเงินจำนวน
4 รายการ มูลค่า 2,100 ล้านบาท ตามที่ได้ตกลงไว้

ในด้านยุทธการ ทำให้ทหารเรือมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการเรือดำน้ำลดลงและมีข้อจำกัดในการวางกำลังทางเรือ ซึ่งภูมิศาสตร์ของประเทศไทยตอนล่างมีลักษณะเป็นคาบสมุทรแคบและยาว ถูกขนาบด้วยทะเลทั้งสองด้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภารกิจการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของไทยในภาพรวม

ขอยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับงบประมาณใดๆทั้งสิ้น ตัดสินใจด้วยเหตุและผลบนความถูกต้อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง..”

6.ข้อมูลโดยสรุป จากประเด็นชี้แจงในการพิจารณาล่าสุด เมื่อไทยเราต้องอนุมัติงบจัดซื้อลำที่ 2-3

1) โครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 เป็นโครงการต่อเนื่องซึ่งได้อนุมัติ เห็นชอบโครงการ จำนวน 3 ลำนี้ไว้แล้วเมื่อปีงบประมาณ 2560 และ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 ให้กองทัพเรือดำเนินการจัดหาเรือดำน้ำในรูปแบบของรัฐบาลต่อรัฐบาล

2) ด้านการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจาก ปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย เป็นตลาดส่งออกและนำเข้ามากที่สุดของไทย ทางการค้าขาย เศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน

3) ด้านความมั่นคงของประเทศ การจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น ต้องใช้เวลาต่อเรือถึง 6 ปี กว่าจะส่งมอบ และไม่ได้จ่ายเงินก้อน 22,500 ล้านบาท ในทีเดียว
หากแต่เป็นการผ่อนจ่ายเป็นงวด ตามงบประมาณแต่ละปีของกองทัพเรือเอง ซึ่งกองทัพเรือยอมตัดลดงบประมาณของตัวเองในด้านอื่นๆ เพื่อเอามาจัดซื้อเรือดำน้ำ ไว้คานอำนาจต่อรอง ในน่านน้ำทะเลเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีข้อพิพาทกันอยู่ในปัจจุบัน ก็เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศ ทั้งแท่นขุดเจาะน้ำมัน ทั้งดูแลเรือบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศ และด้านความมั่นคงทางทะเลในทุกมิติ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านของเราเอง ก็มีเรือดำน้ำกันทั้ง เมียนมา มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น

พูดง่ายๆ ว่า การมีไว้ซึ่งเรือดำน้ำ ทำให้ประเทศอื่นเกรงใจ ซึ่งหมายถึงว่ามีไว้เพื่อไม่ต้องรบ หากไม่มี ก็อาจจะต้องรบเพราะไม่มีคนเกรงใจ แล้วถ้ารบจริงๆ (แม้เราไม่อยากให้เกิด) ก็จะได้ไม่เสียเปรียบ

อย่าลืมว่า โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ส่วนจะคุ้มหรือไม่คุ้ม จะต้องพิจารณาจากข้อมูลทั้ง 2 ด้าน ไม่ใช่มุ่งปลุกเร้า ปลุกระดมต่อต้านเพื่อจะล้มรัฐบาลข้างเดียว

สารส้ม

Let's block ads! (Why?)



"สอง" - Google News
August 24, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/3jcGrRV

คอลัมน์การเมือง - เหรียญสองด้าน ปมจัดซื้อเรือดำน้ำ - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
"สอง" - Google News
https://ift.tt/3cPqHBD
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3d22Xu4

Bagikan Berita Ini

0 Response to "คอลัมน์การเมือง - เหรียญสองด้าน ปมจัดซื้อเรือดำน้ำ - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"

Post a Comment

Powered by Blogger.