ต่อให้จะไม่ใช่สนีกเกอร์เฮดหรือติดตามเรื่องราวในวงการสนีกเกอร์อย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าทุกคนก็น่าจะรู้จักแบรนด์ ONITSUKA TIGER กันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเพราะรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากสนีกเกอร์แบรนด์อื่นๆ อย่างชัดเจน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนั้นชื่อ ONITSUKA TIGER ยังฟังติดหู ไม่เหมือนใคร และพ้องกับชื่อของตัวละครดังจากมังงะเรื่อง GTO อย่าง "โอนิซึกะ เอคิจิ" อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ความน่าสนใจของแบรนด์รองเท้าแบรนด์นี้ยังรวมถึงเส้นทางการเติบโตที่ผ่านทั้งประวัติศาสตร์สำคัญแห่งโลกกีฬา หรือแม้กระทั่งโลกมายาของวงการบันเทิง Onitsuka Tiger ก็เคยไปเยือนมาแล้ว
จากวันที่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน จากอุปกรณ์สำหรับออกกำลังกายสู่ไอเท็มคู่กายของแอ็คชั่นสตาร์ระดับโลก เรื่องราวของแบรนด์รองเท้าแบรนด์นี้เป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ Main Stand
ปณิธานที่แน่วแน่
เรื่องราวของ Onitsuka Tiger นั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ไฟของสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่มอดดับสนิท ในปี 1949 เมื่อ "คิฮาชิโร่ โอนิซึกะ" ชายชาวญี่ปุ่นวัย 32 ปี มีเจตนารมณ์อย่างแรงกล้าที่ต้องการช่วยเหลือเยาวชนญี่ปุ่นและสร้างอนาคตที่ดีขึ้นหลังจากสงครามสิ้นสุดลง เขาเชื่อว่าการเล่นกีฬาเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรวมกลุ่มผู้คนและเชื่อมโยงชุมชน ดังนั้นการก่อตั้งแบรนด์รองเท้ากีฬา เพื่อผลิตรองเท้ากีฬาที่ชาวญี่ปุ่นเข้าถึงได้ จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการทำตามความตั้งใจของ คิฮาชิโร่
Photo : otokomaeken.com
"กีฬาคือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิต" นี่คือวิสัยทัศน์ของแบรนด์ Onitsuka Tiger ที่ระบุไว้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังเป็นปณิธานที่ คิฮาชิโร่ โอนิซึกะ ตั้งมั่นมาตั้งแต่ในวันที่เริ่มก่อตั้ง
ในตอนแรกที่ก่อตั้ง Onitsuka Tiger ขึ้นมา การผลิตสินค้าส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่รองเท้าบาสเกตบอลเป็นหลัก เนื่องจากในยุคสมัยปลายทศวรรษ 40s วัฒนธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกายังมีอิทธิพลในประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ดังนั้นกีฬาบาสเกตบอลจึงถือเป็นหนึ่งในกีฬายอดฮิตของแดนปลาดิบในช่วงเวลาดังกล่าว
อย่างไรก็ตามความพยายามในช่วงแรกของ โอนิซึกะ นั้นประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง รองเท้าที่ผลิตออกมานั้นมีสภาพไม่ต่างไปจากรองเท้าฟางราคาถูก ไม่สามารถนำไปลงสนามเล่นกีฬาตามความปราถนาของเขาได้จริง
จนกระทั่งบ่ายวันอาทิตย์ธรรมดาๆ วันหนึ่งในช่วงปี 1950 ในขณะที่ โอนิซึกะ กำลังรับประทานสลัดอยู่ เขาก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาจากการที่เห็นหนวดปลาหมึกเกาะติดกับชามสลัดของเขา โอนิซึกะ คิดว่า หนวดปลาหมึกมีโครงสร้างที่น่ามหัศจรรย์ มันสามารถยึดเกาะสิ่งต่างๆ ได้อย่างเหนียวแน่น ทั้งๆ ที่มีขนาดเล็กนิดเดียว เขาไม่รอช้าที่จะสเก็ตภาพรองเท้าขึ้นมาใหม่ โดยใช้หนวดปลาหมึกเป็นแรงบันดาลใจในการทำพื้นรองเท้า ก่อนที่หลังจากนั้นจะเอาแบบร่างนั้นไปให้โรงงานขึ้นรูปเป็นรองเท้าจริงๆ ผลลัพธ์ที่ได้คือรองเท้าบาสเกตบอลชื่อว่า "OK Shoes"
Photo : statigr.am
OK Shoes คือสินค้าหลักอย่างเป็นทางการชิ้นแรกของแบรนด์ Onitsuka Tiger ถึงแม้ว่าในช่วงแรกยอดขายจะไม่ประสบความสำเร็จดังหวัง ส่วนหนึ่งก็เพราะในช่วงก่อตั้ง โอนิซึกะ ไม่ได้สร้างระบบการขายอย่างเป็นทางการ แทบจะมีแค่เขาคนเดียวเท่านั้นที่ทำหน้าที่ทุกอย่าง แม้กระทั่งการตระเวนแบกรองเท้าไปเสนอขายตามที่ต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น ถึงขั้นต้องนอนบนม้านั่งในสถานีรถไฟก็ไม่เกี่ยง
แต่หลังจากที่ทีมบาสเกตบอลของโรงเรียนมัธยมปลายโกเบสวมใส่ OK Shoes และสามารถคว้าแชมป์การแข่งขันบาสเกตบอลมัธยมปลายระดับประเทศได้ในปี 1951 ชื่อของ Onitsuka Tiger ก็เริ่มเป็นที่พูดถึงขึ้นมา
ถึงจะพอเริ่ม "อยู่ได้" แต่ความสำเร็จของ OK Shoes ยังถือว่าอยู่ในระดับท้องถิ่นเท่านั้น และแบรนด์ Onitsuka Tiger ก็คงสถานะเช่นนั้นอยู่จนกระทั่งเวลาเคลื่อนไปจนยุค 50's สิ้นสุดลง
แต่หลังจากนั้นในยุค 60's ยุคนี้แหละถือเป็นการเติบโตก้าวสำคัญของ Onitsuka Tiger
รองเท้าวิ่งพิชิตโอลิมปิก
ไม่ต่างจากตอนที่นั่งประทานสลัดในบ่ายวันอาทิตย์ วันธรรมดาๆ วันหนึ่งในยุค 60's ขณะที่ โอนิซึกะ กำลังแช่น้ำร้อนอยู่ในอ่างที่บ้านอย่างสบายอารมณ์นั้น เขาก็ได้เหลือบมองรอยเหี่ยวย่นของเท้าที่ตัวเองที่เกิดจากความร้อนของน้ำ ตอนนั้นอยู่ๆ เขาก็พลันคิดขึ้นมาได้ว่า ความร้อนทำให้เกิดแผลพุพอง สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เขามุ่งเน้นไปที่การไหลเวียนของอากาศที่ดีขึ้นสำหรับรองเท้าวิ่งทางไกล
หลังจากนั้นในปีเดียวกันรองเท้ารุ่น MAGIC RUNNER ของ Onitsuka Tiger ก็เปิดตัวออกมาวางจำหน่าย โดย MAGIC RUNNER มาพร้อมกับน้ำหนักที่เบา และช่วยทำให้การไหลเวียนของอากาศในตัวรองเท้าเป็นไปอย่างลื่นไหล ซึ่งมันประสบความสำเร็จอย่างสูงในแง่ยอดขาย จนทำให้ชื่อของ Onitsuka Tiger โด่งดังไปไกลถึงต่างแดน
Photo : www.shoesmaster.jp
"นี่คือปรากฏการณ์ยูเรก้าของแบรนด์ Onitsuka Tiger ก็ว่าได้" เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Onitsuka Tiger ระบุถึงเรื่องราวดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน
ถ้า MAGIC RUNNER คือก้าวแรกของความสำเร็จ ก้าวที่สองก็ตามมาทันทีโดยไม่รอช้า เมื่อแบรนด์ Onitsuka Tiger ได้ร่วมมือกับ "เคนจิ คิมิฮาร่า" นักวิ่งมาราธอนชื่อดังเพื่อพัฒนารองเท้าให้นักกีฬาได้ใช้เพื่อวิ่งในโอลิมปิกเกมส์ปี 1964, 1968, และ 1972 โดยในปี 1964 ซึ่งเป็นโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่นในชื่อ "โตเกียว เกมส์" Onitsuka Tiger ได้เปิดตัวรองเท้ารุ่น RUNSPARK ซึ่งก็ได้รับการจับตามองเป็นอย่างมากในโอลิมปิกครั้งนั้น
แต่หลังจากนั้นเพียง 2 ปี สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าก็เกิดขึ้นกับรองเท้ารุ่น Mexico 66 ซึ่งผลิตออกมาเพื่อต้อนรับโอลิมปิกเกมปี 1968 ที่ประเทศเม็กซิโก ส่วนตัวเลข 66 นั้นมาจากเลขปีที่คิดค้นรองเท้ารุ่นนี้ขึ้นมาได้สำเร็จ รองเท้ารุ่นนี้คือรุ่นที่ประสบความสำเร็จที่สุดของ Onitsuka Tiger ก็ว่าได้ เป็นต้นแบบให้กับรองเท้ารุ่นหลังๆ อีกมากมาย จนกระทั่งปัจจุบันความคลาสสิคนั้นก็ยังไม่เสื่อมคลาย
ยังไม่จบง่ายๆ เพราะในปีเดียวกันนั้นเองลวดลายแถบพาดลายเสือที่ทุกคนคุ้นตากันเป็นอย่างดี และเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์แบรนด์ Onitsuka Tiger ในปัจจุบันไปแล้วนั้นก็ปรากฎขึ้นครั้งแรกบนรองเท้ารุ่น LIMBER UP Leather BK
Photo : otokomaeken.com
ถ้าถามว่าการเข้ามาทำรองเท้าวิ่งเพื่อพิชิตโอลิมปิกในยุค 60's ของ ของ Onitsuka Tiger นั้นประสบความสำเร็จแค่ไหน ก็ถึงขั้นที่ว่า ฟิล ไนท์ และ บิว โบเวอร์แมน สองหนุ่มนักกีฬาและโค้ชจาก รัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา เล็งเห็นว่ายังไม่มีใครหยิบ Onitsuka Tiger มาทำตลาดอย่างจริงจังในประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขาจึงร่วมทุนกันเปิดบริษัทที่ชื่อว่า Blue Ribbon Sports เพื่อนำเข้า Onitsuka Tiger มาวางจำหน่ายในดินแดนลุงแซม
ในช่วงยุค 60's Blue Ribbon Sports คือบริษัทนำเข้าอุปกรณ์กีฬาของ Onitsuka Tiger ก่อนที่ต่อมาบริษัทนี้จะเริ่มมีการผลิตสินค้าอุปกรณ์กีฬาเป็นของตัวเอง และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Nike ที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีในปัจจุบัน โดยเรื่องราวการเป็นชนวนในการก่อตั้งครั้งนี้จะมีการกล่าวถึงโดยละเอียดอีกครั้งในโอกาสต่อไป
เข้าสู่โลกจอเงิน
นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องรองเท้าบาสเกตบอลและรองเท้าสำหรับวิ่งแล้ว หลังจากที่ประสบความสำเร็จในยุค 60's Onitsuka Tiger ก็ได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้น มีสินค้าออกมาหลากหลายมากขึ้น กลายเป็นรองเท้าที่นิยมสวมใส่กันในแทบทุกประเภทชนิดกีฬา ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล, วิ่ง, ศิลปะการต่อสู้, เชียร์ลีดเดอร์, วอลเลย์บอล, มวยปล้ำ, กอล์ฟ, คริกเก็ต, ฟันดาบและเทนนิส หรือแม้กระทั่งการเข้าสู่วัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ (Pop Culture) ด้วยการปรากฏในภาพยนตร์ระดับโลก
Photo : www.lemzac.com
บรูซ ลี คือนักแสดงระดับโลกคนแรกที่สวมใส่รองเท้า Onitsuka Tiger ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกผ่านเรื่องราวบนแผ่นฟิล์มของภาพยนตร์ โดยภาพยนตร์เรื่องนั้นชื่อว่า Game of Death เข้าฉายในปี 1972 โดย ลี ได้สวมใส่ Onitsuka Tiger รุ่น Mexico 66 คู่กับชุดจั๊มสูทสีเหลืองลายดำซึ่งเป็นภาพที่ทุกคนน่าจะจดจำได้เป็นอย่างดี ... เมื่อพูดถึง บรูซ ลี ลุคนี้แหละคือลุคที่จะผุดเข้ามาในหัวเป็นอันดับแรก
ถึงแม้เจ้าตัวจะไม่ได้ระบุถึงเหตุผลในการเลือกสวมใส่รองเท้ารุ่น Onitsuka Tiger อย่างเป็นทางการ แต่ทีมงานในกองถ่ายรวมถึงสื่อในช่วงเวลานั้นคาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากรองเท้ารุ่นนี้สามารถเคลื่อนไหวไปกับวิชากังฟูและจีคุนโดที่ บรูซ ลี ต้องทำการแสดงได้คล่องแคล่วที่สุด ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าว Onitsuka Tiger กำลังโด่งดังอย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี ในปี 1973 บรูซ ลี ก็มีภาพยนตร์เรื่องใหม่ในชื่อ Enter the Dragon ซึ่งถึงแม้ในเรื่องนี้ บรูซ ลี จะไม่ได้สวมใส่ Onitsuka Tiger (บรูซ ลี สวมใส่รองเท้ากังฟูแบบดั้งเดิมในการถ่ายทำ เนื่องจากเหมาะกับบริบทในเรื่องมากกว่า) แต่นักแสดงนำอีกคนอย่าง จิม เคลลี่ ก็สวมใส่ Onitsuka Tiger รุ่น Mexico 66
โดยในฉากหนึ่งของเรื่อง Enter the Dragon ตัวละครของ เคลลี่ ได้พูดกับคู่ต่อสู้ของเขาว่า
"ถ้าเกิดข้าแพ้ ข้าคงไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำเพราะข้ามัวแต่ยุ่งอยู่กับการทำตัวเองให้ดูดี"
Photo : medium.com
โดยประโยคนี้เป็นการสะท้อนให้ได้ทราบว่าในยุคสมัยนั้น ไม่ใช่แค่เป็นรองเท้าที่สามารถใส่เล่นกีฬาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ Onitsuka Tiger ยังเป็นรองเท้าที่จัดว่าดูดีมีสไตล์อีกด้วย
แต่ถึงแม้ว่าจะไม่สวมใส่เข้าฉากในการถ่ายทำ แต่ภาพจากเบื้องหลังกองถ่ายเผยให้เห็นว่า บรูซ ลี นั้นสวมใส่รองเท้า Onitsuka Tiger แทบจะตลอดเวลา เรียกได้ว่าเป็นไอเท็มคู่กายเลยก็ว่าได้ โดย Onitsuka Tiger ของ ลี นั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 คู่ คือรุ่น Limber Up, Mexico 66, และ Tiger Corsair โดยในปัจจุบันทั้ง 3 คู่ถูกนำมาประมูลเพื่อการกุศลไปหมดแล้ว ในราคาคู่ละไม่ต่ำกว่าหลักหลายแสนบาทเลยทีเดียว
สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ
นับตั้งแต่เข้าสู่ยุค 70's บวกกับการไปปรากฎเป็นไอเท็มคู่ใจของนักแสดงระดับตำนานอย่าง บรูซ ลี ส่งผลให้ Onitsuka Tiger กลายเป็นแบรนด์สนีกเกอร์สำหรับเล่นกีฬาอันดับต้นๆ ของโลกไปโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคฟองสบู่แตกในช่วงปี 1990 สถานการณ์ของ Asics ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Onitsuka Tiger ก็ย่ำแย่ตามไปด้วย ถึงขั้นที่ว่างบการเงินของบริษัทติดลบเป็นสีแดงยาวนานติดต่อกันถึง 8 ปี
จนกระทั่งในปี 2002 บริษัทก็เริ่มกลับมามีกำไรอีกครั้งด้วยการสร้างจุดขายเรื่องการเป็นรองเท้าผ้าใบคุณภาพ พร้อมภาพลักษณ์แบบวินเทจตะวันออก ซึ่งการตลาดนี้ได้ผลเป็นอย่างดีโดยเฉพาะในแถบประเทศภาคพื้นยุโรปอย่างฝรั่งเศสและอิตาลี
Photo : www.nickytiger.com
อย่างไรก็ตามจุดเปลี่ยนที่ทำให้ Onitsuka Tiger กลับมาพุ่งแรง กลายเป็นแบรนด์มหาอำนาจด้านรองเท้าผ้าใบอีกครั้ง คือการที่รองเท้ารุ่น Tai Chi สีเหลือง-ดำ ได้ไปปรากฎอยู่ในซีรี่ส์ภาพยนตร์เรื่อง Kill Bill ผลงานการกำกับของ เควนติน ทารานติโน่ ยอดนักเล่าเรื่องผ่านแผ่นฟิล์มแห่งยุค
ภาพยนตร์เรื่อง Kill Bill ประสบความสำเร็จมหาศาล ทั้งในแง่รายได้และคำวิจารณ์ โดยรายได้รวมทั้ง 2 ภาค (Kill Bill Vol.1 เข้าฉายปี 2003 และ Kill Bill Vol.2 เข้าฉายปี 2004) นั้นสูงเกือบ 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทุนสร้างเพียง 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนั้นภาพของนักแสดงสาว อูม่า เธอร์แมน (Uma Thurman) ในชุดจั๊มสูทสีเหลือง สวมรองเท้า Onitsuka Tiger รุ่น Tai Chi สีเหลือง-ดำ ก็กลายเป็นภาพจำของแฟนภาพยนตร์ทั่วโลกไม่แพ้ภาพของ บรูซ ลี ในเรื่อง Game of Death เลยทีเดียว
Photo : www.espinof.com
"เควนตินสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ (Kill Bill) ขึ้นมาส่วนหนึ่งก็เพื่อคารวะผลงานของ บรูซ ลี ดังนั้นชุดของ อูมาร์ เธอร์แมน ที่เป็นจั๊มสูทสีเหลือง-ดำ ใส่ Onitsuka Tiger ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Game of Death แบบเต็มๆ" ลอว์เรนซ์ เบนเดอร์ (Lawrence Bender) โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์ Kill Bill กล่าว
หลังจากภาพยนตร์ Kill Bill เข้าฉายได้ไม่นาน ยอดขายรองเท้าของ Onitsuka Tiger ก็พุ่งกระฉูด โดยหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน Asics บริษัทแม่ของ Onitsuka Tiger ถึงกับมีงบประมาณเปิดสาขาสแตนอโลนของรองเท้าแบรนด์นี้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันมากถึง 23 สาขา ทั้งในประเทศญี่ปุ่น, ฮ่องกง, ปารีส, เบอร์ลิน, ลอนดอน, และโซล ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ Onitsuka Tiger อยู่ในช่วงซบเซา และไม่มีการเปิดสาขาเพิ่มมาเป็นเวลานาน
จากวันนั้นในปี 2003 ที่ อูม่า เธอร์แมน สวม Onitsuka Tiger ล้างบางแก๊งยากูซ่าใน Kill Bill Vol.1 จนถึงวันนี้ Onitsuka Tiger ก็ไม่เคยกลับสู่จุดตกต่ำอีกเลย ตรงกันข้ามนับวันแบรนด์สายเลือดปลาดิบแบรนด์นี้ยิ่งแข็งแกร่ง กลายเป็นมหาอำนาจในโลกสนีกเกอร์อย่างสมบูรณ์ และช่วยทำให้สถานการณ์ทางการเงินของ Asics ให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยในปี 2018 Onitsuka Tiger มียอดขายรวมทั่วโลกมากกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และมีสาขาสแตนอโลนในประเทศญี่ปุ่น 33 สาขา นอกประเทศทั่วทุกมุมโลกอีก 233 สาขา
Photo : www.superguide.nl
ดังนั้นถึงแม้ว่าแบรนด์ Onitsuka Tiger ดั้งเดิมจะสูญสลายไปแล้วตั้งแต่ปี 1977 จากการที่ คิฮาชิโร่ โอนิซึกะ นำแบรนด์ไปควบรวมกิจการเข้ากับ GTO บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬา และ Jelenk บริษัทผลิตเสื้อผ้าถักสัญชาติญี่ปุ่น เกิดบริษัทใหม่ในชื่อ Asics แต่ปณิธานของเขาในวันก่อตั้งแบรนด์ก็ไม่เคยเลือนหายไปไหน
เพราะ Onitsuka Tiger ยังเป็น "ฮีโร่ผู้กอบกู้" เหมือนเช่นเดิม ถึงแม้บริบทรอบข้างจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม
แหล่งอ้างอิง
https://ift.tt/3fOebD6
https://ift.tt/2PERnew
https://ift.tt/2Wy1pAR
https://ift.tt/2FgUWpv
"พิชิต" - Google News
August 11, 2020 at 01:13PM
https://ift.tt/31FI9UP
ONITSUKA TIGER : รองเท้าวิ่งพิชิตโอลิมปิกสู่ไอเท็มแห่ง ป๊อปคัลเจอร์และภาพจำใน KILL BILL - Sanook
"พิชิต" - Google News
https://ift.tt/2TwDilR
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3d22Xu4
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ONITSUKA TIGER : รองเท้าวิ่งพิชิตโอลิมปิกสู่ไอเท็มแห่ง ป๊อปคัลเจอร์และภาพจำใน KILL BILL - Sanook"
Post a Comment